Numquam prohibere somniantes
Mata Hari
Mata Hari

Mata Hari

มาร์กาเร็ตธา เซลล์ (Margaretha Geetruida Zelle)

สายลับเยอรมัน รหัส H-21

รู้จักเธอกันในชื่อที่เธอใช้ในการแสดงว่า มาต้า ฮาริ (Mata Hari) เธอเกิดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 1876 ในลียูวาร์เด้น, เนเธอแลนด์ (Leeuwarden, Netherlands) พ่อมีชื่อว่าอดัม (Adam Zelle) และแม่แอนเจ (Antje van der Meulen)  อดัมเป็นเจ้าของร้านขายหมวก และทำธุรกิจน้ำมัน ที่บ้านจึงมีฐานะร่ำรวยขณะที่เธอยู่ในวัยเด็ก

1889 พ่อของเธอล้มละลาย

1891 แม่เสียชีวิต 

1893 พ่อแต่งงานใหม่กับซูซานน่า (Susanna Catharina ten Hoove) แต่ว่าไม่ได้มีลูกด้วยกัน  หลังพ่อแต่งงานไม่นานมาต้า ก็ออกจากบ้านไปอาศัยอยู่กับพ่อบุญธรรม ชื่อ วิสเซอร์ (Visser) ในเมืองสนิก (Sneek) 

มาต้าเข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนกินเดอร์การ์เตน (Kindergarten) ในไลเดน (Leiden) เพื่อหวังที่จะจบมามีอาชีพเป็นครู แต่ว่าต้องออกจากการเรียนกลางคันเพราะมีปัญหากับครูใหญ่และพ่อบุญธรรม

มาต้าหนีออกจากบ้าน และไปอาศัยอยู่กับลุง ในกรุงเฮก (Hague) 

1895 11 กรกฏาคม , แต่งงานกับนายทหารชื่อรูดอล์ฟ แม็คเลาด์ (Captain Rudolf MacLeod) , มาต้าพบกับรูดอล์ฟผ่านโฆษณาประกาศหาคู่สมรสในหนังสือพิมพ์ ซึ่งรูดอล์ฟได้ลงโฆษณาเอาไว้ การแต่งงานของทั่งคู่จัดขึ้นในอัมเตอร์สดัม  รูดอล์ฟทำงานอยู่ในกองทัพอาณานิคมของเนเธอแลนด์ และประจำการอยู่ในบริเวณประเทศอินโดนีเซียปัจจุบัน

1897  ออกเดินทางด้วยเรือไอน้ำชื่อ อมาเลีย (SS Amalia) ไปยังเมืองมาลัง (Malang) ทางตะวันออกของเกาะชวา (Java island) และต่อมามีลูกด้วยกันสองคน ชื่อ นอร์แมน (Narman John MacLeod, 1897-1899) และหลุยส์ (Louise Jeanne MacLeod, 1898-1919) ระหว่างอยู่ในอินโดนีเซียนี้เองที่เธอได้ฝึกทักษะการเต้นของท้องถิ่น ในขณะที่ชีวิตครอบครัวไม่ค่อยจะมีความสุขเพราะสามีที่มีอายุห่างกันกว่ายี่สิบปี และยังติดเหล้า

1899 นอร์แมนเสียชีวิต โดยที่มาต้าเชื่อว่าถูกสาวใช้วางยาโดยคนรับใช้ซึ่งเธอคิดว่ามีความสัมพันธ์ชู้สาวกับรูดอล์ฟ ในขณะที่หลุยส์ลูกอีกคนก็ล้มป่วยพร้อมๆ กัน แต่ว่ารอดชีวิตมาได้

1902 เดินทางกลับมาอยู่ในเนเธอแลนด์ รูดอล์ฟและมาต้าได้แยกกันอยู่ มาต้าเองย้ายไปอยู่ในปารีส และหารายได้โดยการเป็นนักแสดงในคระละครสัตว์ ขณะนั้นเธอใช้ชื่อการแสดงว่าเลดี้ แม็คเลาด์ (Lady MacLeod)

1905 เธอเดินทางไปยังกรุงปารีสเป็นครั้งแรก เพื่อทำการแสดงเป็นนักเต้นระบำที่ผสมการเต้นแบบเอเชีย  ทำให้เธอก็เร่ิมมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก และได้ออกเดินทางไปแสดงยังที่ต่างๆ ทั่วยุโรป เธอเริ่มแต่งประวัติตัวเองใหม่ว่าเธอเกิดในวัดศักดิ์สิทธิอินเดีย และได้เรียนการเต้นมาจากวัดแห่งนั้น  นักบวชเป็นคนที่ตั้งชื่อมาต้า ฮาริให้เธอด้วย ซึ่งแปลว่า พระอาทิตย์ในภาษามาเลย์ หรือทางวรรณกรรมเรียกว่าเป็น ดวงตาแห่งกลางวัน (eye of the day)

ช่วงเวลานี้มาต้าได้มีความสัมพันธ์ลับๆ กับอีมิล กูเมต (Emile Etienne Guimet) มหาเศรษฐีเจ้าของโรงงานผลิตสีคราม สำหรับย้อมผ้า 

1907 จดทะเบียนหย่าอย่างเป็นทางการ

1914 ช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 1 เป็นช่วงที่อาชีพการแสดงของเธอตกต่ำลงแล้ว แต่ว่ามักมีความสัมพันธ์กับนักการเมืองหรือนายทหารระดับสูง ทำให้เธอมีโอกาสเดินทางไปยังประเทศต่างๆ บ่อยครั้ง คนที่เธอมีความสัมพันธ์ด้วย อาทิ เช่น รัฐมนตรีกลาโหมอัลดอล์ฟ-ปิแอร์ (Adolphe-Pierre Messimy) บารอน เฮนรี่ โรธสซิลด์ (Baron Henry de Rothschild) 

1916 เธอตกหลุมรักเจ้าหน้าที่หนุ่มชาวรัสเซียชื่อวาดิม (Vadim de Maslof) ขณะนั้นเขามีอายุ 21 ปี ซึ่งเชื่อว่าวาดิมเป็นคนที่ชักจูงให้เธอมาทำงานเป็นสายลับให้กับฝรั่งเศส เธอจึงได้ติดต่อกับกัปตันลาด๊อกซ์ (Captain Ladoux) หัวหน้าสายลับของฝรั่งเศส 

ระหว่างที่เดินทางไปยังอังกฤษ เมื่อเรือไปถีงท่าในฟาลเมาท์ (Falmouth) มาต้าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจของอังกฤษจับในข้อหาเป็นสายลับและถูกนำตัวไปยังลอนดอนเพื่อทำการสอบสวน โดยผู้ทำการสอบปากคำเธอคือเซอร์ เบซิล ทอมสัน (Sir Basil Thomson) โดยที่เซอร์ทอมสัน เขียนหนังสือ  ชื่อ Queer People พิมพ์ออกมาในปี 1922 อ้างว่า มาต้า ยอมรับว่าเธอทำงานเป็นสายลับให้กับฝรั่งเศส  

มาต้านั้นถูกนำตัวไปขังที่สถานีตำรวจบนถนนแคนน่อน (Cannon st.) แต่ไม่นานได้รับการปล่อยตัว

1917 มกราคม, มีการส่งข้อความของกองทัพเยอมันจากกรุงมาดริดไปยังเบอร์ลินด้วยคลื่นวิทยุ แต่ว่าฝ่ายฝรั่งเศสสามารถดักจับสัญญาณเอาไว้ได้ โดยเนื้อหาของข้อความ กล่าวถึงสายลับ ชื่อรหัสว่า H-21 และข้อความยังระบุด้วยว่าคือมาต้า 

13 กุมภาพันธ์, ขณะที่เธออยู่ในโรงแรมวังอลิเซ่ (Hotel Elysee Palace) กัปตันลาด๊อกซ์ซึ่งไม่ไว้ใจมาต้าอีกแล้ว ได้สั่งจับเธอ ในข้อหาเป็นสายลับให้เยอรมัน เธอถูกนำตัวไปขังไว้ที่เรือนจำเซนต์ลาแซร์ (St. Lazare Prison) 

มาต้าปฏิเสธข้อกล่าวหาและยืนยันว่าตัวเธอเองบริสุทธิ แต่ว่าทนายที่ทำหน้าที่ว่าความให้เธอไม่ได้รับการอนุญาตให้คุยกับลูกความโดยตรง หลายคนจึงคิดว่าคำตัดสินถูกกำหนดเอาไว้แต่แรกแล้ว 

15 ตุลาคม , เวลาหกโมงเช้า เธอถูกนำตัวไปที่ลานในปราสาทวินเซนเนส (Castle of Vincennes) และถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า เธอมีอายุ 41 ปีในขณะนั้น

ปี 1970 ทางการเยอรมันเปิดเผยข้อมูลใหม่ยืนยันว่า มาต้าเป็นสายลับของเยอรมันจริง เธอเข้าทำงานให้กับเยอรมันราวช่วงปลายของปี 1915  ในหน่วย 3-บี (Division III b) โดยผู้บังคับบัญชาหน่วยคือ วอลเตอร์ นิโคไล (Walter Nicolai) และพันเอกโรเบลล์ (Major Roepell) เป็นคนที่คอยติดต่อมอบคำสั่งให้กับมาต้า 

ร่างของมาต้านั้นถูกนำไปใช้เพื่อการศึกษาทางการแพทย์เพราะไม่มีญาติคนใดของเธอมาขอรับไปเมื่อเธอเสียชีวิต ในขณะที่ศรีษะของมาต้าถูกดองเอาไว้และเก็บรักษาเอาไว้ที่พิพิธภัณฑ์กายวิภาค (Museum of Anatomy) ในปารีส แต่ในปี 2000 พบว่าศรีษะของเธอได้หายไป ซึ่งอาจจะหายไปตั้งแต่ปี 1950s เมื่อมีการย้ายที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Don`t copy text!